You Are Here: หน้าหลัก > เกี่ยวกับเรา > ธนาคารเพื่อความยั่งยืน > กลยุทธ์เพื่อความยั่งยืนของกลุ่มธนาคาร
กลยุทธ์เพื่อความยั่งยืนของกลุ่มธนาคาร
 

กลยุทธ์ด้านความยั่งยืน
      ระบบการเงินของประเทศไทยมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของประเทศ ด้วยการส่งเสริมแนวความคิดด้านความยั่งยืนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาลไปยังภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆธนาคารไอซีบีซี (ไทย) เป็นสถาบันการเงินที่มุ่งสร้างสมดุลระหว่างเป้าหมายการเติบโตทางธุรกิจในระยะสั้นและการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนขององค์กรในระยะยาว โดยกำหนดแนวทางในการดำเนินงานตามคำมั่นในระยะยาวที่จะเป็น “ธนาคารในประเทศที่ทรงคุณค่าและเป็นสะพานเชื่อมทางการเงินระหว่างไทยและจีน เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน” เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ การเงิน และการลงทุนของทั้ง 2 ประเทศ และเพิ่มโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจด้วยเทคโนโลยีทางการเงินที่ทันสมัย นอกจากนี้ ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) ยังให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบ และนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (United Nation’s Sustainable Development Goals: UNSDGs) เป็นแนวทางในการกำหนดกลยุทธ์ และเป้าหมายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนขององค์กร และยึดหลักการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และระเบียบข้อบังคับทั้งระดับประเทศและระดับสากลอย่างเคร่งครัด ตลอดจนให้ความสำคัญกับการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม ซึ่งถือเป็นรากฐานในการดำเนินงานและเป็นการปูทางไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนควบคู่ไปกับเศรษฐกิจและสังคมไทยต่อไป
      ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) กำหนดกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนภายใต้กรอบการดำเนินงาน 3 ประการ ได้แก่ ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาธิบาล ดังนี้

ด้านสิ่งแวดล้อม
      ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกำลังมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อทั้งภาคครัวเรือน ธุรกิจ สถาบันการเงิน และเสถียรภาพโดยรวมของระบบเศรษฐกิจ ทำให้หลายประเทศทั่วโลกเริ่มปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนตํ่า โดยภายใต้ข้อตกลงปารีสและความมุ่งมั่นของแต่ละประเทศจากการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Commitment at the United Nations Climate Change Conference of the Parties (COP)) ได้จัดให้มี “การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด” (Nationally Determined Contribution (NDC)) เพื่อกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละประเทศ โดยประเทศไทยได้จัดทำ “การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด” (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2) กำหนดเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเพิ่มการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นร้อยละ 30-40 ภายในปี 2573 (โดยได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ) เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608
      ธนาคารในฐานะตัวกลางทางการเงินในการจัดสรรเงินทุนไปยังภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของประเทศ โดยการนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมาเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาสำหรับการจัดสรรเงินทุนผ่านการให้สินเชื่อและการลงทุนส่งเสริมนวัตกรรมและการใช้เทคโนโลยี เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ทันสมัยสามารถรองรับความต้องการของลูกค้าได้ รวมทั้งกำหนดแนวปฏิบัติในการดำเนินงานที่ส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
      ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) ตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608 ทั้งนี้ ธนาคารได้กำหนดแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กรและการจำกัดการให้การสนับสนุนทางการเงินกับโครงการหรืออุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel) ในขณะที่ธนาคารจะพยายามเพิ่มการสนับสนุนทางการเงินให้กับโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือโครงการของบริษัทที่มีแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
• การสนับสนุนการเงินสีเขียว
      ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมโดยนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมมาเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาสินเชื่อและการลงทุน เพื่อสนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศทางการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
• การปฏิบัติงานเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
      ส่งเสริมการคิดค้นนวัตกรรมและนำเทคโนโลยีทางการเงินที่ทันสมัยมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อตอบสนองตรงต่อความต้องการของลูกค้า รวมทั้งกำหนดแนวทางการดำเนินงานภายในองค์กรที่ส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ด้านสังคม
      มุ่งมั่นในการเป็นสถาบันการเงินที่ตระหนักถึงการเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการแบ่งปันประโยชน์กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ส่งเสริมและสร้างวัฒนธรรมของการเรียนรู้และการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของสังคมการแบ่งปันประโยชน์กับผู้มีส่วนได้เสียมุ่งมั่นในการเป็นสถาบันการเงินที่ตระหนักถึงการเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยยึดหลักธรรมาภิบาลที่ดี มีส่วนร่วมแบ่งปันผลประโยชน์กับผู้มีส่วนได้เสีย และเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม
• การแบ่งปันประโยชน์กับผู้มีส่วนได้เสีย
      มุ่งมั่นในการเป็นสถาบันการเงินที่ตระหนักถึงการเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยยึดหลักธรรมาภิบาลที่ดี มีส่วนร่วมแบ่งปันผลประโยชน์กับผู้มีส่วนได้เสีย และเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม
• การสร้างความมั่นใจในความเป็นอยู่ที่ดีและความเท่าเทียมของพนักงาน
      ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพพนักงานพร้อมส่งเสริมและเปิดโอกาสให้พนักงานมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานอย่างเท่าเทียมภายใต้กฎระเบียบที่กำหนด รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมภายใต้ความเข้าใจในทิศทางเดียวกันขององค์กร
• การส่งเสริมวัฒนธรรมของการเรียนรู้
      ส่งเสริมและสร้างสังคมของการเรียนรู้ โดยทุกๆ ปีธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จะจัดการอบรมและส่งเสริมให้พนักงานเข้าร่วมการสัมมนาที่เป็นประโยชน์กับการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงเป็นประโยชน์กับการใช้ชีวิตประจำวันของพนักงานภายใต้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลง เพื่อให้พนักงานทุกคนได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ ทันสมัย และถูกต้อง

ด้านธรรมาภิบาล
      ยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาลที่ดีดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใสและปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างเป็นธรรมภายใต้การบริหารความเสี่ยงอย่างรอบด้าน
• หลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใส
      ยึดมั่นต่อการดำเนินธุรกิจตามหลักการกำกับดูแลกิจการหรือหลักธรรมาภิบาลที่ดี โปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ มีจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ และยึดถือปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับของหน่วยงานกำกับดูแล ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
• การปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างเป็นธรรม
      การปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างเป็นธรรมถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจของธนาคาร โดยมุ่งหมายให้ลูกค้าได้รับการบริการที่เป็นธรรม เหมาะสมทั้งด้านราคา เงื่อนไข และสามารถเข้าถึงการบริการได้โดยสะดวก รวมทั้งได้รับการดูแลและแก้ปัญหาภายในเวลาที่เหมาะสม
• การส่งเสริมรากฐานในการบริหารความเสี่ยงขององค์กร
      ให้ความสำคัญต่อการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมความเสี่ยงอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมการบริหารความเสี่ยงด้านต่างๆ ตามที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ตลอดจนแนวทางการบริหารความเสี่ยงของกลุ่มไอซีบีซี เพื่อให้มั่นใจว่าธนาคารมีแนวทางและวิธีการที่จะป้องกันและลดโอกาสของความเสี่ยงในด้านต่างๆ อย่างเหมาะสมและทันต่อสถานการณ์


(2024-04-22)
【Close】